วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ป่าชายเลนอ่าวมหาชัย

        ป่าชายเลนอ่าวมหาชัย ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำท่าจีนฝั่งขวา ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่าวมหาชัย ฝั่งตะวันตก ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง สมุทรสาคร มีเนื้อที่ 3,179 ไร่ เหมาะสำหรับเป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า วิจัย ด้านธรรมชาติวิทยาของระบบนิเวศ ป่าชายเลน และปากแม่น้ำท่าจีน ปัจจุบันดำเนินการก่อตั้งเป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติ ป่าชายเลนมหาชัย 





ศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำสมุทรสาคร

                    ศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำสมุทรสาคร เป็นศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำสัตว์น้ำน้องใหม่ ตั้งอยู่ที่เดียวกับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร ที่ศูนย์ฯนี้นับว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านทะเลให้กกับชาวจังหวัดท้องถิ่น รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มีโอกาสแวะมาเที่ยวที่จังหวัดสมุทรสาครนี้   ศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำสมุทรสาครมีขนาดไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่จังหวัดอื่นๆ  แต่จุดเด่นอยู่ที่มีรูปปั้นปลาวาฬบรูด้า สูง 17 เมตร ตั้งอยู่บนภูมิทัศน์หน้าศูนย์ฯ ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปคู่กับสัญลักษณ์ที่เป็นจ้าวแห่งท้องสมุทรในน่านน้ำไทย ภายในศุนย์จัดแสดงปลาและสิ่งมีชีวิตทางทะเลต่างๆ จัดแสดงอย่างเป็นส่วนๆ มีทั้งเป็นตู้ และแทงค์กลมภายใน
                   จุดเด่นอีกจุดอยู่ที่ทางเดินอุโมงค์ใต้น้ำที่ถึงแม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวเด็กๆได้ไม่น้อย ที่นี่ยังมีโชว์วัดแสดงการให้อาหารปลาที่อุโมงค์ทุกวันเสาร์อาทิตย์ เวลา 13:00 น. เรียกได้ว่าศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำสมุทรสาครเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่มากันเป็นครอบครัว ได้พาลูกๆหลานๆได้สัมผัสสิ่งมีชีวิตในทะเลได้อย่างใกล้ชิด




วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สวนน้ำ พันท้ายนรสิงห์


           สวนน้ำพันท้ายนรสิงห์ (Pantai Norasingh Water Park) เปิดให้บริการวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีขนาดใหญ่มากกว่า 80 ไร่ เป็นส่วนน้ำที่ไม่ธรรมดาและใหญ่ที่สุดในภาคกลาง ธีมจะเป็นแนวแนวยุคไดโนเสาร์ ภายในจะมีโซนต่าง ๆ มากมายให้เลือกเล่นทั้งโซนเด็ก โซนผู้ใหญ่ และ โซนครอบครัว ลอยคอล่องลำธาร ลอดถ้ำ ชมทิวทัศน์ จุดเด่นคือ Zipline โหนสลิง* และเครื่องเล่นในสวนน้ำอีกมากมาย 


วัดท่าไม้

                วัดท่าไม้นี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2520 ได้รับพระราชทานวิสุงคามมะสีมาเมื่อปีพุทธศักราช 2537 ปัจจุบัน ตั้งอยู่เลขที่ 51 หมู่ที่ 11 ถนนเศรษฐกิจ 1 ซอย 8 ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ในวัดมีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่
                 ถ้านับย้อนไปเมื่อต้นปี พ.ศ. 2520 มีพระภิกษุหนุ่ม อายุราว 24 ปี เป็นพระธุดงค์ชื่อ ยอดชาย ฉายา อุปติสฺโส พรรษา 1 วัดหนองโตนด (พันท้าว) ต.พงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ต้องการหาสถานที่เพื่อปฏิบัติสมณธรรม คุณทุยได้ชี้นำบริเวณปากคลองคอกหมู ริมแม่น้ำท่าจีน อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านนั้นนัก ซึ่งวิเวกร่มรื่นสงบ อากาศดีไม่มีคนพลุกพล่าน แล้วชักชวนญาติสนิทมิตรสหาย ช่วยกันสร้างที่พักสงฆ์
                ด้วยจริยาวัตร และสามัคคีธรรมร่วมกันของพระภิกษุกับชาวบ้าน ประสงค์จะสร้างเป็นวัด จึงขออนุญาตสร้างวัด ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 และเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 จนได้รับใบอนุญาตสร้างวัดจากกรมการศาสนา ให้นามว่า "สำนักสงฆ์โพธิธรรมรังษี(ท่าไม้)"




พระกลางน้ำ




                   นับเป็นที่เที่ยวอีกแห่งของจังหวัดสมุทรสาครที่ไม่ค่อยมีผู้คนรู้จักนัก กับศาลาพระกลางน้ำ ใน ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของ พระพุทธมหาสมุทร ศาลากลางทะเลนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี 2541 เดิมทีเป็นศาลาไม้ไผ่ ชาวบ้านเอาไว้ใช้เฝ้าหอยแมลงภู่และสังเกตคุณภาพน้ำ แต่ภายหลังเกิดภัยธรรมชาติทำให้ศาลาพังทลายลงมา จึงได้มีการบูรณะใหม่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวรวมทั้งน้ำพระพุทธมหาสมุทรมาประดิษฐานไว้อีกด้วย

วัดสุทธิวาตวราราม หรือ วัดช่องลม

        วัดสุทธิวาตวราราม หรือ วัดช่องลม ตั้งอยู่ตรงปากอ่าวสมุทรสาคร ตำบลท่าฉลอม ตรงข้ามกับตัวเมือง เดินทางโดยทางหลวงหมายเลข 35 เลี้ยวซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ 35 เข้าถนนสุทธิวาตวิถีประมาณ 3 กิโลเมตร วัดช่องลมเป็นพระอารามหลวงได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม และเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดนั้นประกอบด้วย

พระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินท่าฉลอม และทรงตั้งเป็นสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศไทย 

หลวงพ่อหินแดง 11 นิ้ว พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ มีพุทธลักษณะแบบอยุธยาตอนปลาย ทำด้วยศิลาแดงทั้งองค์ มีลักษณะพิเศษคือพระหัตถ์ข้างซ้ายมี 6 นิ้วจึงเรียกว่า พระ 11 นิ้ว 

หลวงปู่แก้ว อดีตเจ้าอาวาสวัดช่องลมเมื่อท่านมรณภาพไปแล้วผู้ศรัทธาทั้งหลายได้นำสังขารของท่านไว้ในโลงทองอย่างสวยงามพร้อมทั้งหล่อรูปเหมือนของท่านในท่านั่งสมาธิ ประดิษฐานไว้ภายในวิหาร

ชมชีวิตนกนางแอ่น จำนวนนับพันมาอาศัยทำรังตามผนังโบสถ์ด้านหลัง จนปรากฎลวดลายจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม

        นอกจากนี้นักท่องเที่ยวสามารถชมทัศนียภาพที่สวยงามได้บริเวณท่าน้ำหน้าวัด ทั้งยังมีร้านอาหารไว้คอยบริการและเนื่องจากวัดนี้ ตั้งอยู่ปากอ่าว จึงมี เรือประมงมารอให้บริการเช่าออกไปลอยอังคารด้วย




ป้อมวิเชียรโชฎก (Wichian Chodok Fortress)

สถานที่ตั้ง : อำเภอเมือง
         ตั้งอยู่ตำบลมหาชัย ห่างจากศาลากลางจังหวัด 200 เมตร สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2371 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากในสมัยนั้นได้เกิดกรณีพิพาทกับญวณเรื่องเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ รัชกาลที่ 3 ทรงเกรงว่าญวณจะยกกำลังมารุกรานไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) เป็นแม่กองสร้างป้อมเพื่อรักษาปากน้ำท่าจีนที่เมืองสมุทรสาคร และพระราชทานนามว่า "ป้อมวิเชียรโชฎก" ลักษณะของป้อมก่อด้วยอิฐถือปูนไม่มีป้อมยามมีแต่หอรบตามช่องของกำแพงมีปืนใหญ่ไว้สำหรับป้องกันข้าศึกที่มาทางปากน้ำ


หมู่บ้านเบญจรงค์บ้านดอนไก่ดี (Benjarong Village)

สถานที่ตั้ง : อำเภอกระทุ่มแบน 
            บ้านดอนไก่ดี หมู่ที่ 1 ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เดิมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ทำเครื่องเบญจรงค์อยู่แล้วและทางราชการก็ส่งเสริมโดยการส่งผลงานของทางหมู่บ้านเข้าประกวด จนได้รับรางวัลหมู่บ้านหัตถกรรมดีเด่น แต่ด้านความพร้อมของหมู่บ้านในการผลิตเครื่องเบญจรงค์นั้นยังจำกัด เพราะหากมีการสั่งซื้อจำนวนมากแล้วทางหมู่บ้านไม่สามารถผลิตได้ทันก็ต้องยกเลิกไป จึงได้คิดที่จะรวบรวมกลุ่มหัตถกรรมของหมู่บ้านขึ้นและเมื่อแก้ปัญหาด้วยการรวมกลุ่มกันทำแล้ว ปัจจุบันสามารถรับได้ทั้งงานเล็กงานใหญ่ ทำให้เกิดการกระจายทั้งงานและสร้างรายได้ทั่วถึงกันในหมู่บ้าน
          เครื่องเบญจรงค์ของหมู่บ้านดอนไก่ดี ชิ้นงานมีความประณีตงดงาม ทำจากวัสดุอย่างดีและมีลายที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น จึงทำให้ได้รับรางวัลหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล (OTOP) และเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งสามารถกระจายขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยลายเบญจรงค์ที่มีชื่อเสียงของหมู่บ้านมีทั้งลวดลายวิถีไทย ลายประเพณีสงกรานต์และลายตลาดน้ำ


อุทยานประวัติศาสตร์พันท้ายนรสิงห์

       ศาลพันท้ายนรสิงห์ เป็นอนุสาวรีย์แห่งความซื่อสัตย์ รักษากฎระเบียบ กฎมณเฑียรบาลยิ่งกว่าชีวิตตน ตั้งอยู่ที่บ้านพันท้ายนรสิงห์ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร ตามพงศาวดารเขียนไว้ว่า พันท้ายนรสิงห์ ซึ่งเป็นชาวบ้านนรสิงห์ (ปัจจุบันคืออำเภอป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง) รับราชการเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งเอกชัยของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) แห่งกรุงศรีอยุธยา ในคราวที่คัดท้ายเรือพระที่นั่งเอกชัย เมื่อเรือพระที่นั่งถึงบริเวณคลองโคกขาม คลองคดเคี้ยวมากเป็นเหตุให้หัวเรือชนกิ่งไม้ใหญ่ริมคลองโคกขาม ทำให้โขนเรือหักตกลงในน้ำ พันท้ายนรสิงห์จึงกราบบังคมทูลพระเจ้าเสือให้ประหารชีวิตตนตามกฎมณเฑียรบาล พระเจ้าเสือทรงจำฝืนพระทัย ตามพระราชกำหนดที่วางไว้จึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์และให้ทำศาลขึ้นสูงเพียงตา แล้วนำศีรษะพันท้ายนรสิงห์ กับหัวเรือพระที่นั่งเอกชัยที่หักขึ้นพลีกรรมไว้บนศาล เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่แสดงถึงความซื่อสัตย์จงรักภักดี ซึ่งต่อมากรมศิลปากรได้สร้างศาลขึ้นใหม่แทนหลังเก่าที่พังลงมา ภายในประดิษฐานประติมากรรมรูปพันท้ายนรสิงห์เป็นรูปบุคคลแต่งกายเครื่องแบบทหารโบราณสวมหมวก มือถือพาย ศาลพันท้ายนรสิงห์นี้เป็นแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญของจังหวัดสมุทรสาคร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา





แนะนำจังหวัด




ความเป็นมา    
    สมุทรสาครเป็นจังหวัดชายทะเล ตั้งอยู่ปากแม่น้ำท่าจีน หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่าในอดีตมีชุมชนใหญ่เรียกว่า "บ้านท่าจีน" ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2099) พระองค์โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกบ้านท่าจีนขึ้นเป็น เมืองสาครบุรี เพื่อเป็นหัวเมืองสำหรับเรียกระดมพลเวลาเกิดสงครามและเป็นเมืองด่านหน้าป้องกันผู้รุกรานทางทะเล ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปลี่ยนชื่อเมืองสาครบุรีเป็น เมืองสมุทรสาคร และในปี พ.ศ. 2456พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทางราชการเปลี่ยนคำว่า "เมือง" เป็น "จังหวัด" ทั่วทุกแห่งในพระราชอาณาจักร เมืองสมุทรสาครจึงได้เปลี่ยนเป็น จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ตราประจำจังหวัด

ตราประจำจังหวัดสมุทรสาคร เป็นรูปเรือสำเภาจีนแล่นในทะเล ด้านหลังเป็นโรงงานและปล่องไฟ ซึ่งหมายถึงความรุ่งเรืองที่มีมาจากอดีตถึงปัจจุบัน ตราประจำจังหวัดสมุทรสาคร เริ่มใช้เมื่อพุทธศักราช 2483 ในสมัยที่หลวงวิเศษภักดี (ชื้น วิเศษภักดี) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
ต้นไม้ประจำจังหวัด: พญาสัตบรรณ (Alstonia scholaris)
เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พุทธศักราช 2537 ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับพระราชทานพันธุ์ไม้ดังกล่าวจากสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดวันรณรงค์โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ ปีที่ 50 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเพื่อความเป็น ศิริมงคลของประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครจึงได้นำพันธุ์ไม้สัตบรรณพระราชทานมาปลูก เป็นปฐมฤกษ์ในกิจกรรมวันปลูกต้นไม้ตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2537 ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร จึงถือว่าต้นสัตบรรณเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร